Blog
ReadyPlanet.com
dot
dot


Hawker centre ศูนย์อาหารสำหรับนักเรียนไทยในสิงคโปร์ (ตอน 2)
วันที่ 03/07/2017  16:20:31 PM ,ผู้เข้าชม : 7085

 

Hawker Center ศูนย์อาหารในสิงคโปร์ (ตอน 2)

นักเรียนไทยในสิงคโปร์ ไม่จำเป็นต้องทำอาหารเองเพื่อประหยัดค่าอาหารเหมือนนักเรียนไทยในประเทศอื่นที่มีค่าครองชีพสูง ทั้งนี้เพราะในสิงคโปร์มีศูนย์อาหารไม่ติดแอร์ หรือที่เรียกว่า Hawker Centre (ฮอว์เกอร์ เซนเตอร์) ซึ่งเป็นแหล่งขายอาหารจานเดียว มีอยู่ทั่วประเทศ อาหารอร่อย และที่สำคัญ ราคาค่าอาหารไม่แพงมากนัก  

ถึงแม้ว่าราคาค่าอาหารจานเดียว จะสูงกว่าของไทย แต่ราคาก็ไม่สูงมากจนเกินเอื้อมหรือกระทบต่อเงินในกระเป๋าตังค์ของนักเรียนมากนัก นักเรียนยังสามารถซื้ออาหารจานเดียวทานได้ทุกมื้อ

สำหรับ Hawker Centres 5 แห่งชื่อดังของสิงคโปร์ที่แนะนำให้นักเรียนไทยลองไปชิมอาหารจานเดียวท้องถิ่น มีดังนี้

1. China Town Complex Food Centre

เป็นหนึ่ง ใน Hawker Centre ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ มีร้านอาหารกว่า 260 ร้าน อยู่บนถนน Smith Street ย่านไชน่าทาวน์

2. Old Airport Road Food Centre  

เป็น Hawker Centre ที่เก่าแก่ของสิงคโปร์ แน่นอนว่าการมาทานอาหารที่นี่ ย่อมคาดหวังว่า จะได้ลิ้มรสอาหารท้องถิ่นจากร้านเก่าแก่ที่ขายกันมาหลายสิบปี ตั้งอยู่บนถนน Old Airport Road ใกล้สถานีรถไฟ MRT Dagota  

3. Maxwell Road Hawker Centre

หากกล่าวถึง Hawker Centre นี้แล้ว ก็จะนึกถึงร้านข้าวมันไก่ชื่อดังของสิงคโปร์ Tian Tian Hainanese Chicken Rice และอีกหลายร้านที่อาหารอร่อย เช่น โจ๊ก ร้าน Zhen Zhen Porridge เป็นต้น พิกัดอยู่ด้านหลังวัดพระเขี้ยวแก้ว ย่านไชน่าทาวน์

4. Tiong Bahru Market Hawker Centre

เป็น Hawker Centre ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่จนกลายเป็น Hawker Centre ที่มีสภาพคล้ายศูนย์อาหารติดแอร์หรือ Food Court ในศูนย์การค้าเลยทีเดียว แต่ยังคงจุดเด่นของ Hawker Centre ไว้เหมือนเดิมคือ ราคาไม่แพง ตั้งอยู่ในย่าน Tiong Bahru ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านฮิปแห่งหนึ่งของสิงคโปร์

5. Chomp Chomp Food Centre

เป็น Hawker Centre ที่แตกต่างจากที่อื่น เพราะในขณะทีอื่นเปิดขายตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่ Hawker Centreแห่งนี้ เปิดขายตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึงดึก เป็นที่ฝากท้องสำหรับคนทำงานเลิกเย็นมากหรือนักเรียนที่อ่านหนังสือจนดึกแล้วอยากหาอะไรมาทานแก้หิว ตั้งอยู่บนถนน Kensington Park Road ย่าน Serangoon

 

 

Hawker centre ศูนย์อาหารสำหรับนักเรียนไทยในสิงคโปร์ (ตอน 1)
วันที่ 01/07/2017  12:47:30 PM ,ผู้เข้าชม : 1995

 

Hawker Center ศุนย์อาหารในสิงคโปร์ (ตอน 1)

"เรียนสิงคโปร์ดอทคอม" จะพาไปทำความรู้จักแหล่งอาหารราคาย่อมเยาว์และอร่อยสำหรับนักเรียนในสิงคโปร์ นั่นก็คือ "Hawker Centre" (ฮอว์เกอร์ เซนเตอร์)

Hawker Centre มีจุดกำเนิดคือ ครั้งหนึ่งที่สิงคโปร์ ก็เคยมีคนขายอาหารตามข้างถนนหรือ Street Food เหมือนในไทย แต่ต่อมารัฐบาลสิงคโปร์ในขณะนั้นเห็นว่า การขายอาหารในลักษณะนี้ไม่สะอาด ไม่ถูกหลักอนามัย รวมถึงกีดขวางทางเท้าด้วย จึงได้มีแนวคิดในการจัดระเบียบใหม่คือ สร้างศูนย์อาหารแบบไม่มีแอร์ขึ้น แล้วสร้างร้านค้าย่อยหลายๆร้านภายในศูนย์ แล้วดึงผู้ค้าอาหารตามทางเท้าทั้งหมดมาขายอาหารในศูนย์นี้พร้อมเก็บค่าเช่าในราคาถูก

ปัจจุบัน Hawker Centres มีหลายร้อยแห่งกระจายในทั่วทุกจุดของสิงคโปร์ มักอยู่ใกล้ตลาดสดและย่านชุมชน มีอาหารท้องถิ่นหลายแห่ง หลายร้านเป็นร้านเก่าแก่และอร่อย 

 

 

เรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ เหมาะกับใคร ?
วันที่ 27/04/2017  14:02:06 PM ,ผู้เข้าชม : 1654

 

เรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์เหมาะกับใคร?

 

1. เหมาะกับนักเรียนที่ต้องการก้าวหน้าเร็วในการพัฒนาภาษาอังกฤษของตนเอง ทั้งนี้เพราะ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ทำให้นักเรียนที่มาเรียนที่นี่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารบ่อยซึ่งส่งผลให้ทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนก้าวหน้าขึ้นในทางอ้อม

นอกจากนี้โรงเรียนภาษาหลายแห่งในสิงคโปร์ เปิดสอนหลักสูตรภาษาเต็มวัน เรียนวันละ 5-6 ชั่วโมงซึ่งแนะนำนักเรียนไทยลงเรียน หากต้องการเรียนอย่างเข้มข้น เพราะหลักสูตรเรียนเต็มวันแบบนี้ จะทำให้ยิ่งบีบให้นักเรียนต้องใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาษาอังกฤษของนักเรียนให้ก้าวหน้าเร็ว

2. การเลือกเรียนภาษาอังกฤษในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เป็นทางเลือกที่ดีที่จะทำให้นักเรียนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนเองได้อย่างรวดเร็วซึ่งเป็นปัจจัยการเลือกที่สำคัญมาก แต่อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ประเทศที่เลือกต้องมีความปลอดภัยสูงต่อชีวิตและทรัพย์สินด้วย ซึ่งหากนักเรียนคนใด ให้น้ำหนักและความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย "สิงคโปร์" จะเป็นตัวเลือกต้นๆเลยทีเดียว เพราะ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีคดีอาชญากรรมต่ำมาก ไม่มีภัยธรรมชาติร้ายแรง และมีปัญหาสังคมน้อย เช่น ปัญหายาเสพติด ทำให้ประเทศนี้ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะกับนักเรียนที่ต้องการไปเรียนภาษาอังกฤษในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักและมีความปลอดภัยสูงด้วย 

3. นักเรียนหลายคน อยากไปเรียนภาษาในต่างประเทศ แต่ก็อดคิดถึงคุณพ่อและคุณแม่ไม่ได้ หรือกลับกับ คุณพ่อและคุณแม่ อยากส่งนักเรียนไปเรียนภาษาในต่างประเทศ แต่ก็กลัวคิดถึงลูก หากต่างฝ่ายกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ การเลือกเรียนภาษาที่สิงคโปร์ อาจเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะทั้งสองฝ่ายสามารถไปเยี่ยมเยียนและไปมาหาสู่กันได้ง่าย เนื่องจากสิงคโปร์อยู่ห่างจากไทย 2 ชั่วโมงโดยการนั่งเครื่องบิน และเวลาผู้ปกครองไปเยี่ยมนักเรียนที่สิงคโปร์ ก็ไม่ต้องขอวีซ่าให้ยุ่งยากและเสียเวลา เพราะคนไทยสามารถเข้าสิงคโปร์โดยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าเมือง และสามารถอยู่ในสิงคโปร์ได้สูงสุด 30 วัน

 

JCU Alumni Night 2016 Bangkok
วันที่ 16/01/2017  14:28:20 PM ,ผู้เข้าชม : 1405

 

JCU Alumni Night in Bangkok

 
 เมื่อช่วงก่อนคริสมาสต์ที่ผ่านมา James Cook University วิทยาเขตสิงคโปร์ ได้จัดงานเลี้ยงศิษย์เก่านักเรียนไทยที่เรียนจบจาก JCU Singapore มาร่วมงานฉลองวันคริสมาสต์ ที่โรงแรมเชอราตันแกรนด์สุขุมวิท

James Cook University Singapore เป็นมหาวิทยาลัยรัฐออสเตรเลีย ซึ่งมาตั้งวิทยาเขตที่สิงคโปร์ด้วย JCU Singapore เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับนักเรียนไทยที่จะไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีและโทที่สิงคโปร์

 

ทำไมสิงคโปร์จึงก้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกด้านการศึกษา
วันที่ 14/12/2016  11:32:06 AM ,ผู้เข้าชม : 29460

ทำไมสิงคโปร์จึงก้าวเป็นอันดับ 1 ของโลกด้านการศึกษา

หลังจากผลคะแนน PISA ออกมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่) และปรากฎชื่อของสิงคโปร์ขึ้นอันดับ 1 ของโลกในทุกประเภทของการประเมิน ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน สื่อหลายๆแห่งและผู้เชียวชาญด้านการศึกษาได้ให้ความสนใจและออกมาวิเคราะห์กันว่าทำไมประเทศเล็กๆในอเซียนี้ ถึงมีระบบการศึกษาที่ล้ำหน้าขึ้นอันดับหนึ่งในการประเมินผลที่ถือว่าเป็น World Cup ในวงการศึกษาของโลก อะไรเป็นปัจจัยที่ระบบการศึกษาของประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชมาเมื่อปี 1965 ได้แซงหน้าหลายๆประเทศในโลก

จุดเริ่มต้นการพัฒนาการศึกษาของชาติ

สิงคโปร์มีระบบรากฐานการศึกษาที่ได้วางไว้จากอังกฤษเมื่อครั้งเป็นอาณานิคม ในช่วงที่ได้รับเอกราชนั้น ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ยังอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ นายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ในสมัยนั้น เล็งเห็นว่าหากจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า สิงคโปร์จะต้องให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาเป็นอย่างแรกเพื่อเตรียมคนให้พร้อมกับการพัฒนาประเทศ

ก้าวข้ามการศึกษาแบบท่องจำ

ในช่วงปี 1980 กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์เล็งเห็นว่า สิงคโปร์ควรจะพัฒนาตำราและการสอนสำหรับคนสิงคโปร์ โดยที่นักวิชาการด้านการศึกษาและนักวิจัยของสิงคโปร์ได้ไปศึกษาดูงานระบบการศึกษาจากประเทศชั้นนำต่างๆ ของโลกเช่น แคนาดา และ ญี่ปุ่น และนำมาพัฒนาเป็นของตนเอง โดยจุดประสงค์ของการพัฒนาการศึกษา คือ เพื่อให้การเรียนการสอนก้าวข้ามจากการเรียนการสอนที่เน้นท่องจำ (rote learning)แบบเดิมๆ

ขับเคลื่อนการศึกษาแบบ Problem-based learning

ดังนั้น การเรียนการสอนของสิงคโปร์ จะเน้นการนำไปใช้ในชิวิตจริง และ การแก้ไขปัญหา (Problem-based learning) ยกตัวอย่างเช่น ในการเรียนคณิตศาสตร์ ครูผู้สอนอาจจะพานักเรียนไปทัศนศึกษาที่สนามบินชางฮี และให้นักเรียนใช้เลขในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยน และคำนวนจำนวนผู้โดยสารที่แท๊กซี่สามารถรองรับได้

และในการเรียนคณิตศาสตร์นั้น ครูจะให้ความสำคัญกับวิธีที่ได้มาซึ่งคำตอบ มากกว่าคำตอบที่ถูกต้องที่เฉลยจากคุณครู  ครูอาจจะให้นักเรียนแต่ละคนออกมาแสดงวิธีทำของโจทย์เลข เพราะคำตอบเดียวกันอาจจะมีที่มาจากหลายวิธีการได้

วางวิชาคณิตฯ กับ วิทย์ เป็นแกนหลักการศึกษา

นอกจากนั้น หลักสูตรของสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ทั้งสองวิชานี้คือวิชาหลักในทุกระดับชั้น แม้แต่นักเรียนในระดับมัธยมปลายที่เลือกเน้นเรียนสายมนุษยศาสตร์ก็จะต้องเลือกเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวิชาบังคับ

สิงคโปร์ให้ความสำคัญของการวางรากฐานของการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประถมศึกษา เมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันตก หัวข้อการเรียนในแต่ละวิชาอาจจะไม่มากเท่า แต่สิงคโปร์เน้นความลึกของแต่ละวิชา กล่าวคือ หัวข้อในการเรียนน้อยกว่าแต่เรียนให้ลึกกว่า

ครูที่มีคุณภาพ

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นปัจจัยหลักของการประสบความสำเร็จ คือ ประเทศสิงคโปร์มีครูที่มีคุณภาพ ประเทศสิงคโปร์มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่อบรมครูโดยเฉพาะที่เรียกว่า National Institute of Education (NIE) ครูใหม่ทุกคนจะต้องผ่านการอบรมจากส่วนกลางที่สถาบันแห่งนี้ ซึ่งทำให้การสอนเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ตามที่ BBC ได้วิเคราะห์ไว้ว่า นี่คือข้อดีของการเป็นประเทศเล็กที่ทุกอย่างสามารถรวมศูนย์ในการบริหารจัดการและควบคุมมาตรฐานได้

สิงคโปร์ลงทุนกับครูค่อนข้างมาก จะเห็นได้ว่า การคัดเลือกบรรจุครูจะคัดสรรจากนักศึกษาที่ได้คะแนนในระดับต้นๆของชั้น และเพื่อดึงดูดคนที่มีเก่งมาเป็นครู การทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีโอกาสและความก้าวหน้าทางสายวิชาชีพ สามารถพัฒนาเป็นครูใหญ่ เป็นนักวิจัยทางการศึกษาได้

และการพัฒนาบุคลากรครูนั้นทำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ดังที่ Prof Sing Kong Lee, vice-president of Nanyang Technological University กล่าวไว้ว่า “การศึกษาเปรียบเหมือนกับระบบนิเวศน์วิทยา ทุกอย่างต้องเกื้อหนุนกัน เราไม่สามารถพัฒนาระบบการศึกษาได้หากทำการเปลี่ยนแปลงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง”

และด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมสิงคโปร์จึงขึ้นอันดับหนึ่งในการประเมินผลมาตรฐานการศึกษาระดับโลก

Sources:
 
 

 

พาไปเที่ยวห้องสมุดสาธารณะที่สิงคโปร์
วันที่ 06/06/2013  14:40:53 PM ,ผู้เข้าชม : 5965

พาไปเที่ยวห้องสมุดสาธารณะที่สิงคโปร์

สิงคโปร์มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน

มีหอสมุดแห่งชาติ (National Library) ขนาดใหญ่อยู่ใจกลางเมือง 1 แห่ง

ห้องสมุด Regional libraries 3 แห่ง

และมีห้องสมุดสาธารณะ (Public Library) อีก 22 แห่งกระจายอยู่ทั่วเกาะ ตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชมใหญ่ๆและตามห้างต่างๆ เพื่อให้ความสะดวกกับผู้ใช้มากที่สุด

สำหรับประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ การพัฒนาคนและการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญอย่างมาก

ภาพที่เด็กๆนั่งหรือนอนอ่านหนังสือกันเต็มห้องสมุดในช่วงเย็นๆหรือวันหยุดสุดสัปดาห์จึงเป็นภาพที่เห็นชินตาตามห้องสมุดสาธารณะทั่วไป

การส่งเสริมการอ่านเป็นส่วนหนึ่งในการมุ่งไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ของประชากรในประเทศ

เนื่องจากสิงคโปร์มีอัตราการรู้หนังสือถึงเกือบ 100 เปอร์เซนต์ งานหนักของรัฐบาลจึงไม่ได้อยู่ที่การส่งเสริมการอ่านเพื่อขจัดการไม่รู้ หนังสือเหมือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แต่อยู่ที่การตอบสนองความต้องการในการอ่านหนังสือของประชาชนซึ่งใช้บริการห้องสมุดกว่า 30 ล้านครั้งต่อปี

 
วันนี้เราจะไปเยี่ยมชมห้องสมุด Serangoon Public Library ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 4 ห้าง Nex ที่สถานีรถไฟฟ้า Serangoon ห้องสมุดตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกกับผู้คนมากๆ  คนที่มาเดินเทียวเล่นที่ห้างในวันเสาร์อาทิตย์ หรือ คนที่ลงรถไฟฟ้าที่สถานีแห่งนี้ สามารถเข้ามาใช้บริการห้องสมุดได้อย่างง่ายดาย 

มุมอ่านหนังสือของเด็กๆ มีหนังสือจำนวนมากและใหม่ให้บริการ มีทั้งหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาจีน

 

Serangoon Public Library

Address:                       3 Serangoon Central, #04-82/83, nex, Singapore 556083

Opening Hours:              Mon - Sun : 11.00am - 9.00pm

How to get there:           Serangoon MRT station

 

พูดภาษาอังกฤษสำเนียงไหนดี
วันที่ 06/05/2013  13:46:48 PM ,ผู้เข้าชม : 7143

พูดภาษาอังกฤษสำเนียงไหนดี?

ภาษาอังกฤษ สำเนียงอเมริกัน กับสำเนียงอังกฤษ คุณชอบอันไหนมากกว่า?”

“ถามหน่อย มีใครพอรู้บ้างว่า สำเนียง ออสเตรเลีย กับ British นี่เหมือนกันป่าว?? (หรือต่างกัน ><)”

อยากพูดภาษาอังกฤษสำเนียงได้ทำไงดี

“คือ เราอยากพูดภาษาอังกฤษให้เป็นสำเนียงอ้ะ เวลาอัดเสียงตัวเองพูดภาษาอังกฤษแล้วคิดในใจ สำเนียงเรามันไม่ได้เรื่อง ห่วยแตกแท้ๆ มันทำให้เราท้อใจนิดๆ นะ.......คือหลายๆคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นสำเนียงได้ เขาพูดกันยังไง? (เราเคยไปฝึกภาษานะ แต่กลับมา ก็งูๆปลาๆ อยู่ดี) เราก็ชอบดูหนังฝรั่งแบบฟังโดยแบบเสียงในฟิล์มเลย แล้วเราก็จำสำเนียงเขามาแต่มันก็ห่วยเหมือนเดิม

 

ข้างต้นนี้เป็นหัวข้อกระทู้จากในหลายๆฟอรั่มที่ขอยกเป็นตัวอย่างให้เห็นว่านักเรียนไทยในบ้านเรานั้นนอกจากต้องการที่จะพูดภาษาอังกฤษให้ได้แล้วยังมีความกังวลเรื่อง “สำเนียง” ว่าต้องพูดภาษาอังกฤษสำเนียงไหนดี

เท่าที่เราคุ้นชินกันมาตั้งแต่เด็กๆ นักเรียนควรพูดภาษาอังกฤษให้ถูกต้องตามแบบ American Accent หรือ British Accent แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ นักภาษาศาสตร์และบรรดาครูสอนภาษาอังกฤษทั้งหลายได้หันมาตั้งคำถามแล้วว่าการใช้ต้นแบบการออกเสียงของเจ้าของภาษา (Native Speakers) เช่น American English หรือ British English เป็นหลักในการสอนการออกเสียงนั้นยังคงใช้ได้ในยุคปัจจุบันนี้หรือไม่

 

ดร. Jennifer Jenkins อาจารย์ด้านภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics)และสัทศาสตร์ (phonology) จากประเทศอังกฤษ ได้ทำการวิจัยและศึกษาเรื่องแนวทางการสอนการออกเสียงภาษาอังกฤษในยุคที่ภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาสากล (Global English) ให้คำตอบเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ภาษาอังกฤษสากล (Global English) คืออะไร  

ดร. Jennifer ได้อธิบายไว้ว่า คำว่า Global English ปัจจุบันนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย คำว่า Global English หมายถึง ภาษาอังกฤษที่ได้ถูกใช้แพร่หลายไปทั่วทุกแห่งในโลกนี้ ทั้งในกลุ่มคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก เช่น ในอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น และในกลุ่มคนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกด้วย

พูดง่ายๆก็คือว่า ปัจจุบันนี้ภาษาอังกฤษจึงไม่ได้มีไว้สำหรับใช้พูดเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของภาษา (Native Speakers) เท่านั้น แต่ยังใช้สื่อสารกันระหว่างกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษา (Non-Native Speakers)ด้วย ซึ่งในกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากในโลกยุคปัจจุบัน โดยจากทั่วโลกคิดเป็นจำนวนประชากรประมาณ 1.5 พันล้านคน และนี่คือที่มาของคำว่า Global English ซึ่งหมายถึง ภาษาอังกฤษที่มีฐานะเป็นภาษาสากลนั่นเอง

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างสถานการณ์ตัวอย่างดังนี้ นักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลนด์เดินทางไปประชุมที่เวียนนา ดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียนไปเจรจากับลูกค้าที่สตอกโฮม นักธุรกิจเกาหลีติดต่อธุรกิจกับนักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวและแวะซื้อของในร้านขายของที่ระลึกที่เวียดนาม จะเห็นได้ว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก พวกเขาเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และสื่อสารกันอย่างเข้าใจ แต่แน่นอนว่าคงไม่ใช่ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันหรือบริติช อิงลิช ที่เราเคยได้ยินหรือเห็นในภาพยนตร์หรือรายการข่าว แต่เป็นภาษาอังกฤษที่ใช้เพื่อการสื่อสารเป็นหลักหรือที่เรียกว่า Global English

 

แล้วเราควรเรียนการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างไร

ดร. Jennifer มีความสนใจในเรื่อง Global English จึงได้ทำการวิจัยโดยเก็บข้อมูลจากการสื่อสารระหว่างผู้พูดที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษา (non-native speakers) เพื่อดูว่าลักษณะการออกเสียงใดบ้างที่สำคัญและไม่สำคัญในการสื่อสาร และจากงานวิจัยของ ดร. Jenifer ได้สรุปถึงแนวทางการเรียนการสอนการออกเสียงภาษาอังกฤษไว้ดังนี้

ควรเน้นการสอนการออกเสียงที่มีเป้าหมายเพื่อการสื่อสารในบริบทที่มีความเป็นนานาชาติระหว่างผู้พุดที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษา ที่ผ่านมา การสอนการออกเสียงเน้นไปที่ทำอย่างไรให้นักเรียนออกเสียงใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากที่สุด แต่ในยุดที่ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาสากล การสอนการออกเสียงที่เน้นการสื่อสารให้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุดคือเป้าหมายที่แท้จริง


จากผลการวิจัยพบว่า ลักษณะบางอย่างในการออกเสียงไม่ได้มีผลต่อการสื่อความหมาย เช่น การออกเสียง ‘th’ ใน ‘three’ หรือ ‘this’ พบว่าหากผู้พูดไม่ได้พูดเหมือนกันเจ้าของภาษาก็ไม่ได้มีผลต่อความหมายในการสื่อสารแต่อย่างใด และอีกประการที่สำคัญ ในเมื่อเจ้าของภาษา (native speakers) ยังมีสำเนียงที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ภูมิภาคที่เจ้าของภาษาอาศัยอยู่ เช่น ภาษาอังกฤษของคนอังกฤษ ภาษาอังกฤษของคนออสเตรเลีย ภาษาอังกฤษของคนอเมริกันก็ย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้เรียนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาจะมีสำเนียงที่หลากหลายบ้าง

 

นักเรียนควรมีโอกาสได้ฟังสำเนียงภาษาอังกฤษที่หลากหลายไม่ควรจำกัดเฉพาะสำเนียงของเจ้าของภาษาเท่านั้น เพราะในยุดที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล การได้คุ้นเคยกับสำเนียงที่แตกต่างย่อมทำให้ผู้เรียนมีทักษะฟังและเข้าใจสำเนียงที่หลากหลายได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

บทส่งท้าย

ดร. Jennifer ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันนี้ ภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาสากล กลายเป็นภาษากลางของโลกใบนี้ และไม่ได้สงวนสิทธิ์ไว้สำหรับผู้พุดที่เป็นเจ้าของภาษา (native speakers) เท่านั้น การเรียนการออกเสียงคงไม่สามารถจำกัดไว้ว่าต้องเป็นแบบ American หรือ British Accent อีกต่อไป

 

เกี่ยวกับ Dr. Jennifer Jenkins

ดร. Jennifer Jenkins จบการศึกษาด้านปริญญาตรี โท และเอกทางด้าน English language and literature, Old Icelandic, and linguistics/applied linguistics จาก Universities of Leicester, Oxford, and London ตามลำดับ 

ดร. Jennifer ทำงานสอนและวิจัยที่หลักสูตรปริญญาโททางด้าน ELT และ Applied Linguistics ที่ King’s College, Londonตั้งแต่ปี 1992 ถึงปี 2002 และปัจจุบัน สอนอยู่ที่ Southampton University ประเทศอังกฤษ

หัวข้องานวิจัยที่สนใจคือ Global Englishes และภาษาอังกฤษในฐานะภาษากลาง

 

ท่องจำกันมา ขาดความคิดสร้างสรรค์
วันที่ 01/03/2013  16:10:54 PM ,ผู้เข้าชม : 2453

ท่องจำตามๆกันมา เลยลดความคิดสร้างสรรค์

 

ดนตรีไทย ไม่มีโน้ต ต้องถ่ายทอดด้วยระบบความจำตัวต่อตัวระหว่างครูกับศิษย์

ครูมีทำนองเพลงตามขนบอยู่ในความจำ (ซึ่งจำจากครูของครูมาก่อน) ถ่ายทอดโดยบอกทำนองให้ศิษย์รับไปทีละวรรค ทีละตอน ทีละท่อนเพลง จนกว่าจะจบแต่ละเพลง ซึ่งใช้เวลานานมากน้อยต่างกัน

ต่อมาพยายามสร้างโน้ต โด เร มี เลียนแบบสากล แต่ไม่เขียนเป็นสัญลักษณ์ตัวเขบ็ตเหมือนฝรั่ง หากเป็นตัวอักษรย่อ เช่น ด ร ม หรือไม่ก็ตัวเลขที่สมมติแทนนิ้วมือกดทับสายเครื่องสายและอุดรูเครื่องเป่า

ถึงอย่างนั้นก็เน้นความจำเป็นหลัก ต้องเล่นให้เหมือนครูผู้สอน ใครทำได้เหมือนครูที่สุด คนนั้นดีที่สุด ใครจำเพลงได้มากที่สุด คนนั้นเก่งที่สุด

หากใครทำต่างจากนี้ จะถูกประณามหยามเหยียดว่าแหกคอก นอกครู หมายถึงเป็นผู้เนรคุณครู หรือศิษย์คิดล้างครู

เลยส่งผลให้ไม่มีศิษย์กล้าคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เพราะกลัวถูกประณาม จึงไม่มีทำนองใหม่ เพลงใหม่

ดนตรีไทยเลยหาทางออกโดยแข่งกันเล่นเร็ว, แรง, โลดโผน ด้วยเทคนิคใหม่ แล้วยกย่องกันเองว่าทำสิ่งใหม่ สร้างสรรค์ใหม่ แต่เก่าทั้งนั้น ฝรั่งเรียก development in framework ไทยเรียกวนในอ่าง หรือ กร่างในกะลา

การเรียนการสอนดนตรีไทย เป็นแบบจำลองการศึกษาไทยทั้งระบบ ที่ อ. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ (กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ 15 กุมภาพันธ์ 2556 หน้า 10) บอกว่า

การศึกษา/การเรียนรู้ในสังคมไทยโดยเฉพาะในวงการศึกษาจะเป็นการศึกษา/และเรียนรู้ในลักษณะที่ทำตามๆกันมา” แล้วยังอธิบายเพิ่มอีกว่า “ระบบการศึกษาไทยตกอยู่ในกับดักของการถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มา”

และที่น่าตกใจ ก็คือ การยึดเอาเฉพาะที่ตนเองเรียนรู้มาเป็นสัจจะสูงสุดเท่านั้น”

การคิดและทำงานวิจัยของครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ภายในกรอบคิดนี้เป็นหลัก”

โดยที่ไม่สนใจในตัวคำถามว่าควรจะหาคำตอบใหม่หรือไม่”

สังคมไทยต้องเปลี่ยนการเรียนรู้แบบทำตามกันมา ให้ก้าวไปสู่การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์

ครูบาอาจารย์ต้องใจกว้างกว่าเดิม ซึ่งทำได้ยากมาก แต่ก็ต้องพยายามฝึกฝนทำจงได้ มิฉะนั้นอนาคตของไทยตามไม่ทันเพื่อนบ้านอาเซียน (ยังไม่ต้องคิดตามทันยุโรป, อเมริกา, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน, ฯลฯ)

ประเด็นนี้ อ. อรรถจักร์แนะนำไว้แล้ว จะขอคัดมาแบ่งปันเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไปอีก ดังนี้

การสร้างความคิดสร้างสรรค์สัมพันธ์อยู่กับความเข้าใจในธรรมชาติของ ‘ความรู้’ กันใหม่ เพราะหากเราคิดแบบเดิม ความรู้ก็คือสิ่งที่สั่งสอนกันมา แล้วเราก็ยึดให้มั่น และถ่ายทอดมันต่อไป ซึ่งก็เกือบไม่มีความหมายอะไรต่อสังคม

ความรู้ไม่มีวันหยุดนิ่ง “ทฤษฎีต่างๆที่เคยใช้ในวันนี้ย่อมไม่คงทนถาวรตลอดไป เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ทฤษฎีความรู้ต่างๆก็เปลี่ยนแปลงตามไปเสมอ

การเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดการจัดสายสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆเพื่อทำให้เกิด “ความหมายใหม่” จำเป็นที่จะต้องมีฐานความรู้ที่กว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่เฉพาะสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา และขณะเดียวกันกลับจะทำให้เข้าใจปัญหาต่างๆได้ชัดเจนขึ้น

หากเกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางมากขึ้นเท่าไร ก็จะส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจในประเด็นปัญหาเฉพาะของสายวิชาที่เคยเรียนมานั้นลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม

ประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทยที่ท่องจำทฤษฎีเก่าตามๆกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่แล้ว มีจำนวนไม่น้อยพ้นสมัย ซ้ำมิหนำยังกลายเป็นเครื่องมือบาดหมางสร้างบาดแผลกับเพื่อนบ้านโดยรอบ

หากไม่ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ นับวันก็จะเป็นไปในทางเสื่อมเสีย

 

ที่มา      http://www.sujitwongthes.com/2013/02/siam27022556

 

เทศกาลตรุษจีนที่สิงคโปร์
วันที่ 08/02/2013  11:40:02 AM ,ผู้เข้าชม : 12748

Happy Lunar Year เทศกาลตรุษจีนในสิงคโปร์

เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลหนึ่งที่สำคัญของคนสิงคโปร์ ด้วยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีเชื้อสายจีน ถือว่าเป็นเทศกาลที่มีวันหยุดยาวเทศกาลหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ผู้คนจะหยุดงานกันเกือบหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งคล้ายคลึงกับบ้านเราที่มีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ในช่วงเทศกาลตรุษจีน คนสิงคโปร์เชื้อสายจีนจะนิยมซื้อเสื้อผ้าใหม่ ตัดผมใหม่ ทำความสะอาดบ้านให้เอี่ยมอ่อง ด้วยความเชื่อที่ว่า จะขจัดสิ่งเลวร้ายออกไป และต้อนรับแต่สิ่งดีๆและโชดดี

และช่วงนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการกลับไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องและรับประทานอาหารร่วมกัน และสิ่งที่สำคัญที่เด็กๆชื่นชอบ คือ เด็กๆจะได้รับซองอั่งเปา

ในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองเช่นนี้ บนท้องถนนโดยเฉพาะย่าน China Town จะประดับประดาด้วยไฟอย่างสวยงาม

คำอวยพรที่นิยมกล่าวในช่วงวันตรุษจีน คือ Gong Xi Fa Cai หรือทีแปลว่า ขอให้ร่ำรวย

 

ห้างสรรพสินค้าต่างประดับประดาด้วยไฟตกแต่งเพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่ผู้คนต่างพากันมาจับจ่าย และมีของประดับบ้านในช่วงตรุษจีนนำมาวางขายตามร้านค้าต่างๆในย่าน China Town นอกจากนี้ ถนนในย่าน China Town ประดับประดาด้วยไฟสวยงาม นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป

 
 

 

พูดภาษาอังกฤษให้ได้ใน 90 วัน
วันที่ 14/11/2012  11:48:05 AM ,ผู้เข้าชม : 18318

พูดภาษาอังกฤษให้ได้ภายใน 90 วัน

ฟังดูคล้ายโฆษณาของโรงเรียนสอนภาษาทั่วๆไป ที่บางครั้งแอบสงสัยว่าเป็นจริงได้หรือ แต่วันนี้เราจะมาแชร์วิธีที่นักเรียนภาษาคนหนึ่งได้เรียนภาษาใหม่สำเร็จได้ภายใน 90 วัน เขาได้อธิบายขั้นตอนการเรียนไว้อย่างละเอียดและมีหลักปฏิบัติที่น่านำมาใช้ได้จริง

Maneesh Sethi คือ blogger ชาวอเมริกันที่นิยมการเดินทางเที่ยวรอบโลก จึงได้มองเห็นความสำคัญในการเรียนภาษาที่สอง สามและสี่ พื้นฐานของเขาเรียนทางด้าน IT ที่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

คุณ Maneeshใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกและตั้งใจจะพูดภาษาอิตาเลียนให้จงได้ใน 90 วัน เขาได้สรุปวิธีการที่เขาเรียนภาษาอิตาเลียนจนพูดสือสารได้ใน 90 วัน  วิธีการเรียนของเขาน่าสนใจ นักเรียนไทยน่านำมาปรับใช้กับการเรียนภาษาอังกฤษกันบ้าง

เขาเล่าว่า เคยเรียนภาษาสเปนเป็นภาษาที่สองตอนเรียนมหาวิทยาลัย สอบได้คะแนนดีอยู่เสมอ ถ้าเทียบกับคะแนนที่เขาได้ น่าจะอยู่ในขั้น Expert แต่เมือเขาเดินทางไปเที่ยวที่สเปนและลองสั่งอาหารดู ปรากฏว่าทั้งคนขายและตัวเขาเองไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจกันได้ Manessh คิดว่าต้องเกิดอะไรผิดพลาดกับการเรียนภาษาสเปนของเขาอย่างแน่ เขาเป็นนักเรียนภาษาที่ได้คะแนนดีมากในชั้นเรียนแต่ทำไมแค่เรื่องง่ายๆ แค่การสั่งอาหาร เขากลับทำไม่ได้

Maneesh สรุปว่า ในชั้นเรียน สิ่งที่เขาเรียนเป็นเรื่องของหลักภาษาและการทำแบบฝึกหัด ดังนั้น เขาจึงเก่งในเรื่องการทำแบบฝึกหัดเท่านั้น แต่ทว่า สิ่งที่ขาดหายไปคือ การพูด หากเราต้องการที่จะพูดภาษาใหม่ให้ได้ เราจะต้องฝึกพูด

ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจเรียนภาษาอิตาเลียนด้วยวิธีของเขาเองและนี่เป็นสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปไว้ ซึ่งเราได้ประยุกต์ให้เป็นการเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนไทยน่าจะลองไปฝึกกันดู

 หลักการพื้นฐานในการเรียนภาษาให้ได้อย่างรวดเร็ว

  • ต้องมีคู่มือในการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น หนังสือไวยากรณ์พื้นฐาน, memorization software และหนังและหนังสือต่างๆที่ผู้เรียนสนใจเป็นภาษาอังกฤษ
  • ต้องใช้ครูสอนตัวต่อตัว (one to one tutor) ซึ่งจะใช้เรียนในช่วงเดือนแรกโดยเรียนวันละ 4 ชั่วโมงต่อวัน
  • ต้องมีความพยายามที่จะพูดเป็นภาษาอังกฤษและคิดเป็นภาษาอังกฤษ
  • ต้องพยายามสร้างโอกาสในการพูดภาษาอังกฤษ หลังจากที่ได้ฝึกบทสนทนาพื้นฐานกับครูแล้ว ควรจะต้องหาเพื่อนได้ใช้ภาษาอังกฤษ
  • หากต้องการให้ได้ผลเร็ว อาจจะต้องย้ายไปเรียนระยะสั้นๆในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ หรือหากไม่สามารถทำได้ อาจจะต้องหาคอร์สเรียนเป็นกลุ่มที่เน้นการสนทนากับเพื่อนในชั้นเรียนด้วย

หลักการข้างต้น เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเร่งรัด หากต้องการเรียนแบบไปเรื่อยๆ สามารถปรับวิธีการ เช่น อาจจะไม่ต้องย้ายไปอยู่ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ หรือ การเรียนเข้มข้น 4-8 ชั่วโมงก็อาจจะลดลงเหลือวันละ 1 ชั่วโมงก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรจะฝึกฝนทุกวัน วันละ 20 นาทีทุกวันจะได้ผลดีกว่าสัปดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง

แหล่งข้อมูลสำคัญในการเรียนภาษา

  • หนังสือไวยากรณ์ดีๆ
  • หนังสือที่รวบรวมวลีสำคัญๆที่ได้ใช้บ่อยๆ (Phrase Book) ควรฝึกท่องจำประโยคหรือวลีที่ใช้ในการสนทนาอยู่บ่อยๆ
  • ดิกชั่นนารี ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือเป็นเล่มใช้ได้ทั้งนั้น
  • Memorization App สำหรับเพิ่มคำศัพท์ใหม่ๆและไว้ท่องศัพท์ทุกๆคืน  

 แผนการเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผลใน 90 วัน

การตั้งเป้าที่จะพูดภาษาใหม่ให้ได้ใน 90 วันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ต้องการการทุ่มเทและฝึกฝนค่อนข้างมาก หากไม่ต้องการเร่งรัดขนาดนั้น คุณ Maneesh แนะว่าอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน แต่สิ่งที่เขาเน้นย้ำก็คือ ต้องฝึกทุกๆวัน

Days 1-30

เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการเรียนภาษา ต้องตั้งใจให้สิ่งแวดล้อมต่างๆทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการให้ได้ผลดีที่สุด คือ ย้ายไปอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมเป็นภาษาอังกฤษ

ในช่วงเดือนแรกแนะนำให้เรียนเดี่ยวกับคุณครู เพราะการเลือกเรียนเป็นกลุ่มบางครั้ง นักเรียนก็อาจจะขึ้เกียจบ้าง ไม่อยากจะฝึกพูดบ้าง แต่การเรียนกับครูหนึ่งต่อหนึ่งเป็นการบังคับในตัวว่าต้องพูด

สิ่งที่สำคัญที่สุด: คุณต้องเป็นนักเรียนที่ใฝ่รู้อยู่ตลอด ใฝ่รู้ในที่นี้หมายถึง เวลาอยู่ในชั้นเรียนจะต้องหมั่นถามครู หากไม่เข้าใจและจะต้องฝึกฝนการพูดภาษาอังกฤษอยู่ตลอดในชั้นเรียน

ในช่วงนี้ คุณอาจจะได้คำศัพท์ใหม่ๆและวลีใหม่ๆมา ให้เก็บบันทึกไว้ใน Memorization app เพื่อฝึกฝนเองต่อ

ให้เริ่มท่องศัพท์จำนวน 30 คำ และวลีที่ใช้บ่อยๆจำนวน 30 วลีทุกๆวัน ทำไมต้องจำนวน 30 เพราะว่าใน 90 วัน คุณก็จะได้ศัพท์และวลีถึงจำนวนเกือบถึง 3,000 คำ ซึ่งตามตัวเลขสถิติ คำศัพท์ที่ประมาณ 2,925 คำจะปรากฏในภาษาที่เราใช้ประมาณ 80% พูดง่ายๆก็คือว่าถ้ามีวงคำศัพท์มากก็จะทำให้เราสื่อสารได้มากขึ้น

 

 Days 30-60

หลังจากผ่านเดือนแรกไปแล้ว ตอนนี้คุณน่าจะพอสื่อสารบทสนทนาพื้นฐานได้บ้างแล้ว ในช่วงเดือนนี้ ให้เปลี่ยนจากการเรียนเดี่ยวมาเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อประหยัดค่าเรียนและจะได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษกับเพื่อนร่วมชั้น

พยายามหาโอกาสในการสื่อสาร เริ่มออกไปสังสรรค์กับเพื่อนที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารมากขึ้นให้เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารเป็นภาษาอังกฤษ (เริ่มจากหัวข้อที่คุณสนใจ) หากมีคำศัพท์หรือวลีไหนที่ไม่รู้ความหมาย ให้หาความหมายและเพิ่มลงใน Memorization app

ในช่วงนี้ให้หัดคิดทุกคำเป็นภาษาอังกฤษ ทุกๆครั้งที่นึกคำไม่ออก ให้เพิ่มคำนี้ลงไปใน Memorization app

อย่าลืมท่องศัพท์จำนวน 30 คำ และวลีอีก 30 วลี ทุกๆวัน

 

 Days 60-90

ในช่วงนี้ คุณน่าจะมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษแล้ว ขาดแต่การฝึกฝนเพิ่มเติม หมั่นพูดภาษาอังกฤษ โดยการออกไปพูดคุยหรือสังสรรค์กับเพื่อน

ให้ท่องศัพท์และวลีวันละ 30 คำไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนนี้ วงคำศัพท์ของคุณเกือบจะถึง 3,000 คำแล้ว

ในเดือนนี้ คุณสามารถดูรายการทีวีเป็นภาษาอังกฤษ หรือ อ่านหนังสือ นิตยสารเป็นภาษาอังกฤษบ้างแล้ว ให้ลองหาหนังที่เป็นภาษาอังกฤษมาดู โดยปิด Subtitle ให้โฟกัสไปเฉพาะภาษาพูด แต่หากฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็มิต้องตกใจ เพราะการเข้าใจภาษาพูดในหนังนั้นยากกว่าการพูดคุยกับเพื่อน ต้องใช้เวลาฝึกไปอีกสักระยะหนึ่ง

ในระหว่างนี้ ยังคงต้องเรียนในชั้นเรียนอยู่ วันละหลายชั่วโมงเหมือนเดิม แต่เมื่อถึงเวลาสิ้นเดือนที่ 3 นี้ คุณจะต้องประหลาดใจกับความก้าวหน้าทางภาษาใน 90 วัน

 

 บทส่งท้าย

การเรียนภาษาเป็นทักษะอย่างหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและพูดออกมาในภาษาใหม่ เมื่อคุณประสบความสำเร็จในเรียนภาษาใดภาษาหนึ่งได้แล้ว การเรียนภาษาต่อๆไปจะไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป

หวังว่าบทความนี้จะช่วยจุดประกายหลายๆคนที่อยากจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้คล่อง ได้ลองหันมาฝึกภาษากันอย่างจริงจัง แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น วิธีการเรียนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว คนเรียนเท่านั้นที่จะรู้ว่าวิธีใดเหมาะกับเรามากที่สุด แต่อาจเริ่มจากลองนำวิธีการที่เคยมีคนใช้แล้วได้ผล ดังที่สรุปไว้ข้างต้นไปเริ่มฝึกกันดูก่อน แล้วค่อยปรับมาเป็นวิธีของแต่ละคนเองภายหลัง

 

หน้า 2/3
[ก่อนหน้า]   1 2 3  [ถัดไป]
[Go to top]