Blog
ReadyPlanet.com
dot
dot


6 โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ – เรียนสิงคโปร์ดอทคอม
วันที่ 17/02/2023  22:37:47 PM ,ผู้เข้าชม : 20

 

6 โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์

 

“เรียนสิงคโปร์ดอทคอม” สำรวจ 6 โรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีอายุตั้งแต่ 100-200 ปี โดยปัจจุบันทั้ง 6 โรงเรียนยังคงเปิดการเรียนการสอนอยู่ ไม่เท่านั้นยังได้กลายเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงระดับ Top ของประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาการและศิษย์เก่าซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนในฝันที่นักเรียนสิงคโปร์อยากเข้าไปเรียนกัน

 
 

จุดเริ่มต้นของสิงคโปร์สมัยใหม่

ก่อนจะทำความรู้จัก 6 โรงเรียนเก่าแก่อายุ 100-200 ปีของสิงคโปร์ จะต้องย้อนไปทำความรู้จักจุดเริ่มต้นของสิงคโปร์เสียก่อน กล่าวคือ สิงคโปร์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นในปี 1819 (พ.ศ.2362) เมื่อ Sir Thomas Stamford Raffles ชาวอังกฤษ ตัวแทนของบริษัท British East India Company ประเทศอังกฤษในขณะนั้น ได้มาตั้งสถานีการค้าที่สิงคโปร์ซึ่งในเวลาต่อมา สิงคโปร์ ก็ได้กลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษในที่สุดในปี 1867 (พ.ศ.2410

 

การก่อตั้งโรงเรียนในระบบในสิงคโปร์

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ตั้งแต่สิงคโปร์เป็นสถานีการค้าจนถึงช่วงที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น สิงคโปร์ได้เริ่มก่อตั้งโรงเรียนในระบบแล้วซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ 6 โรงเรียนเก่าแก่ที่สุดในสิงคโปร์ในปัจจุบันซึ่งมีโรงเรียนใดบ้าง “เรียนสิงคโปร์ดอทคอม” ได้รวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้

 
 

1. Raffles Institution

ก่อตั้งเมื่อปี 1823 หรือ พ.ศ. 2366 โดย Sir Thomas Stamford Raffles ชาวอังกฤษ บิดาผู้ก่อตั้งสิงคโปร์สมัยใหม่ ทำให้ Raffles Institution เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศสิงคโปร์ อายุกว่า 200 ปี ปัจจุบัน Raffles Institution เป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐที่ไม่ใช่เพียงแค่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นโรงเรียนอันดับ 1 ของสิงคโปร์ซึ่งมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงจบจากที่นี่มากมาย เช่น Yusof Ishak, Benjamin Sheares, Wee Kim Wee 3 อดีตประธานาธิบดีของสิงคโปร์ รวมถึง Lee Guan Yew, Goh Chok Tong 2 อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ไม่เพียงเท่านั้น Raffles Institution ยังแตกตัวให้กำเนิดโรงเรียนในเครืออีกแห่งที่ชื่อว่า Raffles Girls’ School ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนเมื่อปี 1879 หรือ พ.ศ. 2422 หรือเมื่อ 140 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบัน Raffles Girls’ School ก็ได้ก้าวเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอันต้นๆของประเทศเคียงข้าง Raffles Institution ด้วย

 
 

2. St. Margaret’s School

เป็นโรงเรียนหญิงล้วนแห่งแรกในสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1842 หรือ พ.ศ. 2385 ทำให้โรงเรียน St. Margaret เป็นโรงเรียนหญิงล้วนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศสิงคโปร์ อายุกว่า 180 ปี ก่อตั้งโดย Mrs. Maria Dyer มิชชันนารี จากประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากในช่วงเวลานั้น มีเด็กหญิงที่ยากจน ไร้บ้าน ขาดโอกาส จำนวนหนึ่งถูกนำไปประมูลขายเป็นทาสให้ครอบครัวที่มีฐานะเพื่อทำงานเป็นคนรับใช้ ทำให้มิชชันนารีท่านนี้ต้องการช่วยเหลือเด็กหญิงกลุ่มนี้ โดยให้การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จึงเป็นจุดกำเนิดของการก่อตั้งโรงเรียนหญิงล้วนแห่งนี้ ปัจจุบันโรงเรียน St. Margaret แม้ว่าชื่อเสียงอาจจะดังไม่เท่าโรงเรียนหญิงล้วนชั้นนำของสิงคโปร์อย่าง Raffles’ Girls School, Nanyang Girls’ School, Methodist Girls’ School แต่ก็สามารถกล่าวได้ว่า เป็นโรงเรียนหญิงล้วนที่มีชื่อเสียงตามหลังโรงเรียนเหล่านี้ไม่ห่างมากนัก 


 

3. St. Joseph’s Institution

เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่เป็นอันดับ 3 ของสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1852 หรือ พ.ศ. 2395 หรือเมื่อกว่า 170 ปีที่แล้ว ก่อตั้งโดยคณะภราดาลาซาล (La Salle Brothers) ทำให้เป็นโรงเรียนคาทอลิคแห่งแรกในสิงคโปร์ด้วย  ปัจจุบัน St. Joseph’s Institution เป็น 1 ในกลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงด้านความเป็นเลิศทางวิชาการระดับชั้นนำของประเทศสิงคโปร์เช่นกัน   

 
 

4. Anglo-Chinese School (Independent)

เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงระดับ Top 10 อีกแห่งหนึ่งของสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1886 หรือ พ.ศ. 2429 หรือเมื่อเกือบ 140 ปีที่แล้ว โดยบาทหลวงจากคริสตจักรเมโธดิสต์ ตามประวัติในช่วงแรกที่โรงเรียนเริ่มเปิดสอน โรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยสอนวิชาต่างๆให้กับนักเรียนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลาง มีรูปแบบเป็นโรงเรียน 2 ภาษา จึงกลายเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนคือ “Anglo-Chinese” (อังกฤษ-จีน) 


 

5. Methodist Girl’s School

ก่อตั้งเมื่อปี 1887 หรือ พ.ศ. 2430 หรือเกือบ 140 กว่าปีที่แล้ว ก่อตั้งโดยมิชชันนารีชาวออสเตรเลียชื่อ Sophia Blackmore โดยช่วงแรกของการเปิดโรงเรียนนั้น เปิดสอนให้เฉพาะนักเรียนหญิงเชื้อสายทมิฬซึ่งเวลานั้นโรงเรียนใช้ชื่อว่า “Tamil Girl’s School” ก่อนที่จะเป็น Methodist Girl’s School ในเวลาต่อมา ทุกวันนี้ Methodist Girl’s School ยังคงเป็นโรงเรียนหญิงล้วนเหมือนเมื่อ 140 กว่าปีที่แล้ว แต่ที่เปลี่ยนไปคือ โรงเรียนนี้มีนักเรียนหญิงชาวสิงคโปร์จากหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะนักเรียนเชื้อสายทมิฬ และได้เติบโตจนกลายเป็นโรงเรียนหญิงล้วนที่มีชื่อเสียงและอยู่ในกลุ่มโรงเรียนระดับ Top ของประเทศสิงคโปร์ไปแล้ว 

 
 

 6. Hwa Chong Institution

โรงเรียนก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวจีนที่ชื่อว่า Tan Kah Kee ในปี 1919 หรือ พ.ศ. 2462 โดยมีจุดประสงค์เพื่อก่อตั้งโรงเรียนชายล้วนสำหรับนักเรียนเชื้อสายจีนในชุมชนชาวจีนในสิงคโปร์ โดยเวลานั้นใช้ชื่อโรงเรียนว่า Chinese High School จนกระทั่งในปี 2005 หรือ พ.ศ. 2548 โรงเรียนได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมาเป็น Hwa Chong Institution ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นโรงเรียนเก่าแก่ของสิงคโปร์ อายุมากกว่า 100 ปี และยังเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้านความเป็นเลิศทางวิชาการระดับ Top ของประเทศอีกด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า โรงเรียนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงหลายแห่งในสิงคโปร์ มักก่อตั้งโดยบาทหลวงและมิชชันนารีของศาสนาคริสต์ มีบรรยากาศของความเป็นโรงเรียนคริสเตียน แต่สำหรับ Hwa Chong Institution แล้ว มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีจุดกำเนิดโดยชาวจีนเพื่อให้การศึกษานักเรียนจีนในสิงคโปร์ จึงเป็นโรงเรียนที่มีรากเหง้า กลิ่นอายและบรรยากาศของวัฒนธรรมจีนค่อนข้างเด่นชัด

 
การเข้าเรียนโรงเรียนเก่าแก่ของสิงคโปร์สำหรับนักเรียนไทย

ในทางปฏิบัติ นักเรียนไทยที่เรียนอยู่โรงเรียนไทย หากสนใจไปเรียนโรงเรียนเก่าแก่ของสิงคโปร์ข้างต้นซึ่งทั้งหมดเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่อยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ นักเรียนไม่สามารถไปติดต่อและสมัครเรียนกับโรงเรียนเหล่านี้ได้โดยตรง เพราะตามระเบียบของกระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์ มีข้อกำหนดว่า นักเรียนต่างชาติที่จะเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ จะต้องสมัครสอบ AEIS ซึ่งเป็นการสอบส่วนกลางที่กระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์เป็นคนจัดสอบให้กับนักเรียนต่างชาติเท่านั้น 

 

นักเรียนไทยไม่สามารถเลือกโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ได้เอง

หากนักเรียนไทยคนใดคนหนึ่ง ทำผลงานสอบ AEIS ได้ดี-ดีมาก จนสอบผ่านได้ที่นั่งโรงเรียนรัฐบาล ทางกระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์ จะจัดหาโรงเรียนรัฐบาลแห่งใดแห่งหนึ่งให้นักเรียนได้เรียน นักเรียนต่างชาติไม่สามารถเลือกโรงเรียนรัฐบาลที่ตนเองสนใจได้ จากระเบียบข้อนี้ แปลว่าถึงแม้ว่านักเรียนไทยคนใดคนหนึ่งสอบ AEIS ผ่าน ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกเรียนกับโรงเรียนเก่าแก่ของสิงคโปร์ข้างต้นได้ 

 

ช่องทางที่เป็นไปได้ในการเข้าโรงเรียนเก่าแก่ของสิงคโปร์

ถึงแม้ว่าการสอบ AEIS ผ่าน ไม่ได้เป็นการการันตีว่า นักเรียนไทยจะได้เข้าไปเรียนต่อโรงเรียนรัฐบาลเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์ แต่เมื่อสอบติดแล้ว ก็ขอให้เข้าไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลแห่งใดแห่งหนึ่งไปก่อน และรอจังหวะการสอบจบระดับ ป.6 ซึ่งมีการสอบส่วนกลางเพื่อจบประถมฯ เรียกว่าการสอบ PSLE หรือใครเรียนระดับมัธยมฯ ก็ให้รอการสอบจบ ม.4 ซึ่งมีการสอบส่วนกลางเพื่อจบระดับมัธยมศึกษาของสิงคโปร์ เรียกการสอบว่า GCE O Level หากทำผลสอบดังกล่าวในระดับที่ดีมากและยอดเยี่ยม โอกาสที่จะย้ายเข้าโรงเรียนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงข้างต้น ยังคงมีโอกาสอยู่

 

รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลโดย

เรียนสิงคโปร์ดอทคอม ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อสิงคโปร์

 

 

NUS ติดอันดับ 2 มหาวิทยาลัยในเอเชียปี 2023
วันที่ 30/11/2022  14:25:43 PM ,ผู้เข้าชม : 67

 

NUS ติดอันดับ 2 มหาวิทยาลัยในเอเชีย QS World University Rankings ปี 2023

NUS สิงคโปร์หล่นมาอยู่อันดับ 2 การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของเอเชียปี 2023 หลังครองอันดับ 1 ของเอเชียมาโดยตลอดใน 4 ปีหลังสุด

Quacquarelli Symonds (QS) ที่ปรึกษาการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศจาก UK ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยจากภูมิภาคเอเชียประจำปี 2023 ซึ่งมีมหาวิทยาลัยจากเอเชียเข้าร่วมจำนวน 760 แห่ง

ผลการจัดอันดับปรากฏว่า NUS หรือ National University of Singapore มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ ถูกจัดเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียในปี 2023 โดยถูก Peking University มหาวิทยาลัยจากจีนแซงเป็นอันดับ

ส่งผลให้ NUS สูญเสียตำแหน่งแชมป์ของเอเชีย หลังจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมา NUS ได้อันดับ 1 ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยภูมิภาคเอเชียของ QS มาโดยตลอด

 
 

NTU หรือ Nanyang Technological University มหาวิทยาลัยเบอร์ 2 ของสิงคโปร์ อยู่อันดับ 5 ในปี 2023 หลังจากปีที่แล้วอยู่อันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย

ส่วนของไทย มหาวิทยาลัยที่มีอันดับดีที่สุดของการจัดอันดับดังกล่าวคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับ 37 ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล อยู่อันดับ 47 ของภูมิภาคเอเชีย 

 
 

 

สิงคโปร์เตรียมปรับขึ้นเงินเดือนครูปฐมวัย 10%-30%
วันที่ 07/11/2022  15:18:36 PM ,ผู้เข้าชม : 75

 

 

ภายในปี 2024 ครูระดับ preschool ของสิงคโปร์ จะมีฐานเงินเดือนอยู่ระหว่าง 2,900 - 6,600 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน 

 

หรือหากคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนช่วงนี้ X 27 บาท แปลว่าภายในปี 2024 ฐานเงินเดือนครูระดับเตรียมอนุบาล และระดับอนุบาลของสิงคโปร์ จะอยู่ระหว่าง 78,000 - 178,000 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ทักษะ และผลงานของครูแต่ละคน 

 

ฐานเงินเดือนใหม่ดังกล่าวอยู่ในแผนของกระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัวของสิงคโปร์ ที่มีแผนปรับขึ้นเงินเดือนครูระดับเตรียมอนุบาล และระดับอนุบาล หรือ preschool ในโรงเรียนที่อยู่ในกำกับของรัฐบาลอีก 10-30% ภายใน 2 ปีนี้ ตามรายงานข่าวของสำนักข่าว Today Online ของสิงคโปร์  อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://bit.ly/3h7nWCM 

 

เหตุที่ปรับเงินเดือนให้เพราะว่า ต่อไปครูระดับ preschool จะมีกรอบการทำงานมากขึ้น คือนอกจากจะสอนและดูแลเด็กในห้องเรียนแล้ว ครูยังต้องทำงานร่วมกับผู้ปกครองและตัวแทนชุมชนอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพด้ว

 

ข่าวการขึ้นเงินเดือนครูระดับ preschool ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษาของประเทศเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นจึง ออกนโยบายขึ้นเงินเดือนครูเพื่อดึงดูดคนเก่งให้เข้ามาเป็นครู และรักษาครูที่เก่งอยู่แล้วให้อยู่ในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ต่อไป 

 

เพราะครูที่เก่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการศึกษาของสิงคโปร์ให้อยู่แถวหน้าของโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และยังช่วยสร้างประชากรให้มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศต่อไปด้วย

 

การเทียบวุฒิ ม.6 สำหรับนักเรียนไทยที่เรียนจบจากสิงคโปร์
วันที่ 15/03/2021  13:39:57 PM ,ผู้เข้าชม : 797

 

 

การเทียบวุฒิ ม.6 สำหรับนักเรียนไทยที่เรียนจบจากสิงคโปร์

 

จะต้องเรียนจบมัธยมฯระดับใดในสิงคโปร์ จึงจะเทียบวุฒิเทียบเท่า ม.6 ของไทยเพื่อใช้ศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในไทยได้ 

สมัยก่อน นักเรียนไทยเมื่อเรียนจบ ม.4 ที่สิงคโปร์ จะต้องเข้าสอบส่วนกลางซึ่งสอบพร้อมกันทั่วประเทศเรียกการสอบว่า "Singapore Cambridge GCE O-Level "

หากผลสอบดังกล่าว นักเรียนทำเกรดได้อย่างน้อย C จำนวน 5 วิชาขึ้นไป นักเรียนสามารถนำผลสอบนี้มาขอเทียบวุฒิจบ ม.6 ที่ไทยได้ 

จึงเท่ากับว่า นักเรียนไทยที่จบ ม.4 ที่สิงคโปร์ พร้อมผลสอบ GCE O-Level ดังกล่าว ก็สามารถนำมาเทียบวุฒิจบ ม.6 ที่ไทยเพื่อนำมาสมัครเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในไทยได้แล้ว 

 

แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลักเกณฑ์การเทียบวุฒิข้างต้นได้ยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว และได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้เรื่อยมาเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง

จนกระทั่งปลายกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยหรือ ทปอ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์การเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ล่าสุดขึ้นมา เพื่อนำไปใช้สมัครเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยไทยสำหรับปีการศึกษา 2565 

ปรากฏว่า ในส่วนของวุฒิการศึกษาจากสิงคโปร์ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับวุฒิการศึกษาจากอังกฤษ กล่าวคือ นักเรียนจะต้องมีผลสอบ GCE A-Level จำนวนอย่างน้อย 3 วิชา แต่ละวิชาได้เกรดระหว่าง A-E

จากเกณฑ์ดังกล่าวแปลว่า หลังจากนักเรียนไทยเรียนจบ ม.4 ที่สิงคโปร์แล้ว นักเรียนยังต้องเรียนต่อระดับจูเนียร์ คอลเลจ (Junior College) หรือเทียบเท่าที่สิงคโปร์อีก 2 ปี

เมื่อเรียนจบระดับจูเนียร์ คอลเลจ แล้ว นักเรียนจะต้องเข้าสอบส่วนกลางพร้อมกันทั่วประเทศหรือที่เรียกว่าการสอบ "Singapore Cambridge GCE A-Level"

หากผลสอบดังกล่าว นักเรียนสอบได้คะแนนระหว่าง A-E จำนวนอย่างน้อย 3 วิชา 

วุฒิการศึกษาสิงคโปร์ก็จะถึงเกณฑ์เทียบเท่ากับวุฒิ ม.6 ของไทย สามารถนำมาใช้สมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยไทยในปีการศึกษา 2565 ได้ 

 
 
ผลสอบ A level 2020 สิงคโปร์
วันที่ 24/02/2021  14:47:53 PM ,ผู้เข้าชม : 481

 

ผลสอบ A Level ปี 2020 สิงคโปร์

 
 
 

นักเรียน A Level ในสิงคโปร์ (เทียบเคียงได้กับ ม.6 ของไทย) ทำผลงานเยื่ยม โดยจำนวนนักเรียนที่สอบผ่าน A Level ปีล่าสุด มีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2006 

นักเรียนที่สอบผ่าน A Level ในปี 2020 มีทั้งหมด 10,905 คนจากนักเรียนที่เข้าสอบทั้งหมด 11,646 คน ดังนั้นนักเรียนที่สอบผ่านคิดเป็น 93.6% 

ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006 ทั้งๆที่ปี 2020 นักเรียน A Level ในสิงคโปร์ประสบความยากลำบากในการเรียน เพราะต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านเป็นหลัก อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 

ตัวเลขข้างต้นสะท้อนได้ดีว่า สิงคโปร์ยังคงประคับประคองมาตรฐานการศึกษาของตนเองได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะนักเรียนในสิงคโปร์จะได้รับผลกระทบเต็มๆจากสถานการณ์โควิด 19 ก็ตาม 

สำหรับ A Level นั้นเป็นการสอบประจำปีซึ่งนักเรียนที่เรียนจบ Junior College ปี 2 หรือ JC 2 (เทียบเคียงได้กับ ม.6 ของไทย) จะต้องเข้าสอบทุกคน

ใครสอบผ่าน ก็จะถือว่าจบ ม.ปลายระบบการศึกษาสิงคโปร์อย่างสมบูรณ์ ใครสอบไม่ผ่าน ก็ยังถือว่าไม่จบ ม.ปลาย ต้องไปเตรียมตัวใหม่ แล้วรอสอบปีหน้า 

นักเรียนคนใดที่สอบผ่าน A Level แล้ว จะได้รับใบเกรดแจ้งผลสอบและใบวุฒิการศึกษาจบ A Level ซึ่งนักเรียนจะนำเอกสารการศึกษา A Level นี้ไปยื่นเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

สำหรับใบเกรดและใบวุฒิฯ A Level ของสิงคโปร์นั้นถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งเลย เพราะเป็นที่ยอมรับทั้งมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์และมหาวิทยาลัยทั่วโลก เพราะถือว่าเป็นวุฒิ ม.ปลายมาตรฐานโลกเทียบเท่าวุฒิ A Level ของอังกฤษ 

เนื่องจาก A Level เป็นการสอบส่วนกลางและจัดสอบโดยหน่วยงานจัดสอบที่มีความน่าเชื่อถืออย่างกระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์ ร่วมกับ Cambridge International Examinations หรือ CIE ซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบของมหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศอังกฤษ

นักเรียนไทยคนใดสนในเรียนหลักสูตร A Level และสอบ A Level ในสิงคโปร์ ขอคำปรึกษาได้ที่ "เรียนสิงคโปร์ดอทคอม" ศูนย์แนะแนวศึกษาต่อสิงคโปร์โดยเฉพาะ 

 
 
 

 

กระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์ ประกาศไม่ขึ้นค่าเรียน ร.ร.รัฐบาลในปีการศึกษา 2021
วันที่ 10/12/2020  13:58:22 PM ,ผู้เข้าชม : 577

 

กระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์ ประกาศไม่ขึ้นค่าเรียน ร.ร.รัฐบาลในปีการศึกษา 2021

 
 

กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ได้ออกประกาศค่าเรียนโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ทั้งระดับประถมฯและมัธยมฯของปีการศึกษา 2021 แล้ว

 

ปรากฏว่าในส่วนค่าเรียนปี 2021 ของกลุ่มนักเรียนต่างชาติที่มาจากชาติสมาชิกอาเซียนซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้ กระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์ ไม่มีการปรับค่าเรียนขึ้น ให้คงค่าเรียนไว้เหมือนปี 2020 

 
 

ดังนั้นค่าเรียนโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ ระดับประถมฯ ปี 2021 สำหรับนักเรียนไทย = 5,580 เหรียญสิงคโปร์ต่อปี คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยช่วงนี้ (ธ.ค.20) X 23 บาท = 128,000 บาทต่อปีโดยประมาณ

 
 

ส่วนค่าเรียนโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ ระดับมัธยมฯ ปี 2021 สำหรับนักเรียนไทย = 9,360 เหรียญสิงคโปร์ต่อปี คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยช่วงนี้ (ธ.ค.20) X 23 บาท = 215,000 บาทต่อปีโดยประมาณ

 
 
 
 

 

ทำไมสิงคโปร์จึงมีความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษดีเป็นอันดับต้นๆของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเซีย
วันที่ 02/12/2020  13:28:42 PM ,ผู้เข้าชม : 2731

 

ทำไมสิงคโปร์จึงมีความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษดีเป็นอันดับต้นๆของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเซีย

 
 
 
สิงคโปร์ ได้คะแนนเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเซีย จากการสำรวจความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของประชากรโลกประจำปี 2020
เป็นการสำรวจโดย EF ซึ่งเป็นบริษัทการศึกษาระหว่างประเทศ โดยสำรวจกลุ่มประชากรกว่า 2.2 ล้านคนจากทั้งหมด 100 ประเทศทั่วโลก (เน้นสำรวจในประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่หรือ Native Speaker) ประจำปี 2020 หรือ EF English Proficiency Index 2020 
ในการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า เนเธอร์แลนด์ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่ ไทย ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 89 ของโลกจากทั้งหมด 100 ประเทศ ที่ทำการสำรวจ

 
 
แล้วอะไรที่ทำให้คนสิงคโปร์จึงมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี การที่สิงคโปร์ได้อันดับที่สูงและได้คะแนนการประเมินภาษาอังกฤษในระดับสูงมาก (very high) จาก EF English Proficiency Index 2020 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน
 
 
 
 "เรียนสิงคโปร์ดอทคอม" มองว่าความสำเร็จครั้งนี้เกิดจาก "นโยบายการศึกษา 2 ภาษา" หรือ The Bilingual Education Policy ที่สิงคโปร์ได้นำนโยบายนี้มาเริ่มใช้ในระบบการศึกษาของสิงคโปร์มาตั้งแต่ประมาณ 60 ปีที่แล้ว
 
นโยบาย Bilingual Education Policy มีหลักการสำคัญคือ กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักที่ใช้ในโรงเรียนและใช้สอนในทุกวิชา (หมายเหตุ : และยังกำหนดให้นักเรียนสิงคโปร์เรียนภาษาแม่หรือ Mother Tongue อีก 1 ภาษาโดยให้เลือกเรียนภาษาจีนกลาง ภาษามาเลย์ หรือภาษาทมิฬ ภาษาใดภาษาหนึ่งอีกด้วย)
 
นอกจากนี้ เฉพาะในวิชาภาษาอังกฤษ ยังถูกกำหนดให้นักเรียนในระบบการศึกษาสิงคโปร์ เรียนวิชาภาษาอังกฤษแบบ First Language หรือภาษาแรก
 
 
 
การเรียนวิชาภาษาอังกฤษแบบ First Language นั้น เป็นการเรียนภาษาอังกฤษในมาตรฐานเดียวกับการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น การเรียนภาษาอังกฤษแบบนี้ จะมีความลึกทางภาษา เพราะเป็นการเรียนสำหรับนักเรียนที่มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก เป็นภาษาแม่ 
 
พูดง่ายๆว่า นักเรียนของอังกฤษเรียนวิชาภาษาอังกฤษอย่างไร นักเรียนในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ก็เรียนแบบนั้นด้วย นักเรียนของอังกฤษสอบวิชาภาษาอังกฤษแบบใด นักเรียนในระบบการศึกษาสิงคโปร์ ก็สอบแบบนั้นเช่นกัน จึงกล่าวได้ว่า มาตรฐานการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาสิงคโปร์ สามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาของอังกฤษได้เลย

ดังนั้นประชากรสิงคโปร์ที่ผ่านระบบการศึกษาสิงคโปร์ที่มีนโยบาย Bilingual Education Policy จึงมีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เวลามีการประเมินทักษะการใช้ภาษาอังกฤษขององค์กรระหว่างประเทศแบบนี้ สิงคโปร์ มักติดอันดับต้นๆและได้คะแนนประเมินสูงเสมอ
 
 
 
 
 
 

 

Tips เตรียมภาษาอังกฤษก่อนเรียนตรีโทที่สิงคโปร์
วันที่ 22/01/2019  11:39:36 AM ,ผู้เข้าชม : 1736

 

 

การไปเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโทที่สิงคโปร์นั้น สิ่งแรกที่นักเรียนจะต้องเตรียมความพร้อมคือ “ภาษาอังกฤษ” เพราะเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย และรวมถึงทุกระดับชั้นในสิงคโปร์

คำถามคือ นักเรียนไทยจะต้องเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษแบบไหน เตรียมอย่างไร ถึงจะทำให้นักเรียนไทยสามารถเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโทเป็นภาคภาษาอังกฤษได้ในสิงคโปร์

“เรียนสิงคโปร์ดอทคอม” จะขอยกกรณีตัวอย่างการเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนต่างชาติก่อนขึ้นไปเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทของ James Cook University วิทยาเขตสิงคโปร์ หรือ JCU Singapore ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐของออสเตรเลียที่นอกจากจะมีวิทยาเขตที่ออสเตรเลียแล้ว ยังมีวิทยาเขตที่สิงคโปร์ด้วย เพื่อให้นักเรียนไทยได้ใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษในระดับมหาวิทยาลัย

 

01 ทักษะภาษาอังกฤษวิชาการ

 

เป็นทักษะสำคัญที่ใช้ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย ภาคภาษาอังกฤษ โดยหลักสูตรภาษาอังกฤษของ JCU Singapore จะมุ่งพัฒนาการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษในระดับชีวิตประจำวันก่อน

เมื่อพื้นฐานระดับนี้แน่นแล้ว JCU Singapore ก็จะเพิ่มระดับให้ยากขึ้นโดยการพัฒนาการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษในระดับวิชาการ (Academic Literacy Skill) ซึ่งเป็นระดับภาษาอังกฤษวิชาการที่ใช้ในมหาวิทยาลัยทั้งระดับปริญญาตรีและโท

ในการเรียนภาษาอังกฤษระดับวิชาการนั้น นักศึกษาจะต้องนำเสนอข้อมูล (Presentation) ในหัวข้อวิชาการเป็นภาษาอังกฤษได้ สามารถเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษได้ และสามารถอภิปรายโต้วาทีเป็นภาษาอังกฤษได้

 
 

02 ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

นอกจากทักษะภาษาอังกฤษวิชาการแล้ว JCU Singapore ยังมองว่า ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท ดังนั้นในระหว่างเรียนเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษ ทางมหาวิทยาลัยก็จะพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองไปพร้อมๆกันด้วยโดยผ่านการทำงานที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ซึ่งนักศึกษาจะต้องกำหนดหัวข้อที่จะศึกษา หาแหล่งข้อมูล และทำสรุปด้วยตนเอง ในท้ายของหลักสูตรนั้น นักศึกษาจะต้องเขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษจำนวน 1,500 คำและสามารถนำเสนอข้อมูลหัวข้อวิชาการเป็นภาษาอังกฤษได้ 

 

03 ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์

 

ทักษะนี้ JCU Singapore มองว่า จะต้องฝึกให้นักศึกษามีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ในระหว่างการเรียนเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษด้วย เพราะเห็นว่าเป็นทักษะสำคัญที่ต้องใช้ระหว่างเรียนปริญญาตรีและโท

JCU Singapore จะสอดแทรกการพัฒนาทักษะนี้โดยการกระตุ้นให้นักศึกษาได้ใช้ภาษาอังกฤษในการแสดงความคิดเห็น และใช้ภาษาอังกฤษในการอภิปรายโต้แย้งทั้งในรูปแบบภาษาพูดและภาษาเขียน

 
 

ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม

ระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมภาษาอังกฤษและทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทนั้น นักศึกษาต่างชาติแต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากัน

สำหรับนักศึกษาที่จะเตรียมขึ้นไปเรียนระดับปริญญาตรีนั้น อาจใช้เวลาเรียนเตรียมความพร้อมฯ 4-12 เดือน ส่วนนักศึกษาที่จะเตรียมขึ้นไปเรียนระดับปริญญาโท อาจใช้เวลา 4-16 เดือน ทั้งนี้ JCU Singapore จะมีการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษนักศึกษา ก่อนที่จะกำหนดระยะเวลาเรียนที่เหมาะสมให้กับนักศึกษาแต่ละคน

 

การสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ

นักเรียนไทยคนใดที่วางแผนจะไปเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโทที่สิงคโปร์ แต่อยากรู้ว่าระดับภาษาอังกฤษของตนเองอยู่ระดับใด เมื่อเทียบกับผลสอบภาษาอังกฤษมาตรฐาน IELTS สามารถติดต่อเรียนสิงคโปร์ดอทคอม ศูนย์แนะแนวเรียนต่อสิงคโปร์โดยเฉพาะ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

 

 

การศึกษาไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน
วันที่ 17/12/2018  15:40:41 PM ,ผู้เข้าชม : 1238

 

การศึกษาไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน
 
 

"การศึกษาไม่ใช่เรื่องการแข่งขัน" รมต.ศึกษาฯสิงคโปร์ กล่าวไว้ หลังสิงคโปร์ออกนโยบายการศึกษาใหม่ หวังลดการเรียนแบบแข่งขันมาเป็นการเรียนเพื่อเน้นความเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

สิงคโปร์ แม้จะเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่อีกมุมหนึ่งนักเรียนและผู้ปกครองของที่นี่ส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเกรดและการจัดอันดับความสามารถของนักเรียนตามผลสอบ

 

จากค่านิยมดังกล่าว ทำให้นักเรียนหลายคนมุ่งเรียนเพื่อสอบเพื่อให้ได้คะแนนดีๆ ผลที่ตามมาคือวิธีการเรียนรู้ของนักเรียน จะไปเน้นเรื่องการเรียนรู้แบบจดจำและทำซ้ำหรือ Rote Learning รวมถึงการเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนให้มากขึ้นจากการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมเพื่อเป้าหมายเดียวคือ การทำคะแนนสอบให้ได้สูงๆ บรรยากาศการเรียนจึงมีลักษณะแข่งขันและเปรียบเทียบกันสูง

 

จากค่านิยมดังกล่าว ทำให้การเรียนเพื่อความเข้าใจและสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันถูกละเลยไป 

 
 

เรื่องนี้แน่นอนว่า รัฐบาลสิงคโปร์มองว่าเป็นปัญหาระดับชาติและกำลังจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของชาติกันอีกครั้ง โดยช่วงปลายปี 2018 นายออง ยี คุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯสิงคโปร์ ได้แถลงข่าวว่า กระทรวงฯกำลังมีแผนปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาครั้งสำคัญ โดยการลดการเปรียบเทียบผลการเรียนระหว่างนักเรียนมาเป็น "การส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนใส่ใจต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง" โดยให้เหตุผลว่า "การศึกษาไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน"

นโยบายดังกล่าวนำมาสู่มาตรการที่จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2019 ก็คือ ยกเลิกการสอบของนักเรียนระดับ ป.1-2 แล้วนำการอภิปรายในห้องเรียน (Discussion) , การบ้าน และการสอบย่อย (Quiz) มาประเมินผลการเรียนของนักเรียนแทน

นอกจากนี้นักเรียนในชั้นประถมฯปลายและชั้นมัธยมฯ ก็จะทำให้บรรยากาศการแข่งขันกันเรียนลดลง เช่น การให้คะแนนนักเรียนแบบช่วงคะแนนกว้างขึ้น แทนที่จะให้คะแนนแบบช่วงคะแนนที่แคบลงเพื่อลดการเปรียบเทียบกัน

ท้ายสุด สมุดรายงานผลการเรียนหลังเรียนจบแต่ละปีการศึกษาของนักเรียนทั้งระดับประถมฯและมัธยมฯ จะไม่มีการระบุว่านักเรียนคนใดสอบได้อันดับที่เท่าไรของห้อง ในขณะที่ คะแนนเฉลี่ย คะแนนสูงสุด คะแนนต่ำสุดของแต่ละวิชา ก็จะไม่มีระบุไว้ในสมุดรายงานผลการเรียนเหมือนแต่เดิม

 

 

ความสำเร็จด้านการศึกษาของสิงคโปร์และการเตรียมประชากรสิงคโปร์สู่ยุคศตวรรษที่ 21 สิงคโปร์
วันที่ 17/10/2018  15:48:22 PM ,ผู้เข้าชม : 1678

 

การศึกษาสิงคโปร์กับการสร้างคนศตวรรษที่ 21
 

พอดีเห็นคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทยของคุณลม เปลี่ยนทิศ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2561 ได้เขียนเรื่อง “ พิมพ์เขียวสร้างคนศตวรรษที่ 21” ซึ่งในบทความดังกล่าวบางช่วงบางตอนได้เขียนถึงการศึกษาของสิงคโปร์ด้วย “เรียนสิงคโปร์ดอทคอม” เห็นว่า นักเรียนไทยและผู้ปกครองที่สนใจเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ น่าจะได้รับประโยชน์จากมุมมองเรื่องการศึกษาสิงคโปร์จากแหล่งอื่นๆด้วย จึงช่วยทำสรุปประเด็นสำคัญที่บทความนี้กล่าวถึงการศึกษาสิงคโปร์

 
 
ระบบการศึกษาชั้นยอด

 

เมื่อ 53 ปีก่อน นายลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ได้วางรากฐานให้ประเทศ โดยการสร้างประชากรสิงคโปร์ที่มีอยู่ไม่กี่ล้านคน ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าที่สุด ด้วย “การศึกษาชั้นยอด” ซึ่งสิงคโปร์ก็ทำได้สำเร็จ เพราะทุกวันนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐฯเท่านั้น 

 

นักเรียนสิงคโปร์คว้าอันดับ 1 ด้านการศึกษาของโลก

การศึกษาชั้นยอดของสิงคโปร์ ยังส่งผลให้นักเรียนสิงคโปร์ได้คะแนนทางการศึกษาเป็นอันดับ 1 ของโลก จากการประเมินผลการศึกษาและจัดอันดับของ PISA ครั้งล่าสุดปี 2015 ใน 3 วิชาหลักคือคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ปรากฏว่า นักเรียนสิงคโปร์ทำคะแนนทั้ง 3 วิชาได้อันดับ 1 ของโลกจากนักเรียนกว่า 500,000 คนจากทั้งหมด 72 ประเทศที่เข้าร่วมการประเมินผลการศึกษาครั้งนี้ซึ่งจัดโดย OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

 

สิงคโปร์เตรียมคนสำหรับศตวรรษที่ 21

แม้ว่าสิงคโปร์ จะประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา แต่ดูเหมือนว่าสิงคโปร์จะยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2561 ได้เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ ได้จัดทำพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์การศึกษาของชาติครั้งใหม่ชื่อว่า “21 st Century Competencies” หรือการสร้างสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

 
 

1. ลดความเครียดของนักเรียนและผู้ปกครอง

นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์จะมีการปรับเปลี่ยนการให้คะแนนของนักเรียนสิงคโปร์ที่สอบจบ ป.6 หรือการสอบ PSLE ซึ่งเป็นการสอบจบระดับประถมฯพร้อมกันทั่วประเทศ จากเดิมเป็นการให้คะแนนแบบลงรายละเอียด เช่น สอบได้ 214 จากคะแนนเต็ม 300 คะแนน เป็นต้น มาเป็นการให้คะแนนเป็นช่วงคะแนนแบบกว้างๆ เช่น ใครได้คะแนน AL 1 ก็แปลว่านักเรียนคนนี้ได้คะแนนสอบวิชานั้นๆมากกว่า 90% ใครได้คะแนน AL 2 ก็แปลว่าได้คะแนนระหว่าง 85-89% เป็นต้น การทำเช่นนี้ก็เพื่อลดความรู้สึกที่ว่าโรงเรียนไหนเก่งกว่ากันและเป็นการลดปัญหาที่ผู้ปกครองไปกดดันนักเรียนเรื่องการทำคะแนนสอบให้ได้คะแนนสูงๆจนมากเกินไ

 

2. ปรับระบบการเรียนการสอนใหม่

โดยเน้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ขึ้น กล้าแสดงออกเพื่อแก้ไขปัญหา ข้อสอบต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความเห็นอย่างเสรี การประเมินผลสอบต้องทำควบคู่กันทั้งวิชาการและพัฒนาการทางสังคมของนักเรียน

 

3. พัฒนาครู

ครูต้องผ่านการอบรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพของตนเองอย่าง 100 ชั่วโมงต่อปี และยกระดับเงินเดือนประจำครูให้สูงไม่แพ้อาชีพอื่นๆ

 

4. การเรียนที่เชื่อมโยงในโลกความเป็นจริงมากขึ้น

รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2023 โรงเรียนทุกแห่งต้องจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง (Real World) ได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เป็นการเรียนเพียงเพื่อไปทำคะแนนสอบให้ได้สูงๆเท่านั้น

 
 

 

อ่านเพิ่มเติม

นักเรียนและผู้ปกครองท่านใดสนใจอ่านบทความนี้ฉบับเต็ม ก็เข้าไปที่เว็บไซด์ข่าวไทยรัฐ ไปที่คอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” ของคุณลม เปลี่ยนทิศ ชื่อเรื่อง “ พิมพ์เขียวสร้างคนศตวรรษที่ 21”

 

 

 

หน้า 1/3
1 2 3  [ถัดไป]
[Go to top]