การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT และรถเมล์ในสิงคโปร์ – เรียนสิงคโปร์ดอทคอม
|
 |
ก่อนที่นักเรียนไทยจะไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ นักเรียนควรทำความรู้จักระบบขนส่งมวลชนของสิงคโปร์ให้ดี เพราะเมื่อไปเรียนที่สิงคโปร์แล้ว นักเรียนจะต้องใช้ระบบขนส่งมวลชนในชีวิตประจำวัน เช่น ไปกลับที่พัก ไปกลับที่เรียน ไปหาซื้ออาหาร ไปหาซื้อของใช้ และไปแหล่งพักผ่อน
|
|
ภาพรวมระบบขนส่งมวลชนของสิงคโปร์
|
ระบบขนส่งมวลชนของสิงคโปร์นั้น จะประกอบด้วยรถไฟฟ้า MRT และรถเมล์ซึ่งใช้ง่าย สะดวก ปลอดภัย เข้าถึงทุกพื้นที่ และที่สำคัญราคาค่าโดยสารไม่แพง “เรียนสิงคโปร์ดอทคอม” จึงทำสรุปประเด็นที่นักเรียนไทยต้องทราบเกี่ยวกับการใช้รถไฟฟ้า MRT และรถเมล์ก่อนเดินทางไปเรียนที่สิงคโปร์
|
.jpg) |
 |
รถไฟฟ้า MRT ของสิงคโปร์
|
สิงคโปร์มีรถไฟฟ้า MRT 6 สาย มีสถานีมากกว่า 140 สถานี ระยะทางรวมกว่า 200 กิโลเมตร มีคนใช้บริการมากกว่า 3 ล้านคนต่อวัน และยังมีรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rapid Transit หรือ LRT) 3 สาย มีสถานีมากกว่า 40 สถานี ระยะทางรวมกว่า 28 กิโลเมตร มีคนใช้บริการมากกว่า 2 แสนคนต่อวัน ครอบคลุมการเดินทางไปทุกพื้นที่ของประเทศสิงคโปร์
|
ระยะเวลาการเดินรถ MRT สิงคโปร์
เริ่มเดินรถตั้งแต่ 05.30 น. - เที่ยงคืนทุกวัน
|
ความถี่ในการเดินรถ MRT
ช่วงเวลาเร่งด่วน ตั้งแต่เวลา 07.00-09.00 น. จะมีรถไฟฟ้ามาทุกๆ 2-3 นาที ส่วนช่วงเวลาปกติ จะมีรถไฟฟ้ามาทุกๆ 5-7 นาที
|
ค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สิงคโปร์
ค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT คิดตามระยะทาง เช่น ระยะทางสั้นสุด ไม่เกิน 3.2 กิโลเมตรต่อเที่ยว ค่าโดยสาร = 1.09 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 28 บาท) ระยะทางยาวสุด มากกว่า 40.2 กิโลเมตรต่อเที่ยว ราคาค่าโดยสารสูงสุด = 2.37 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 62 บาท) ซึ่งราคาค่าโดยสารดังกล่าว เป็นราคาผู้ใหญ่ (Adult Fares) ที่จ่ายผ่านบัตร เช่น บัตร EZ-Link รวมถึงบัตร Debit, บัตร Credit, บัตร Travel Card ที่มีตราสัญลักษณ์ VISA และ Master Card (หมายเหตุ สิงคโปร์ยกเลิกการจ่ายค่าโดยสาร MRT เป็นเงินสดแล้ว)
|
|
 |
 |
|
 |
รถเมล์ในสิงคโปร์
หากที่พักของนักเรียนไม่ได้อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า การเดินทางไปเรียนหรือไปสถานที่ต่างๆด้วยการนั่งรถเมล์ ก็นับเป็นวิธีการเดินทางที่มีข้อดีอยู่หลายประการคือ
ไปได้ทุกจุด : การเดินทางด้วยรถเมล์ของสิงคโปร์ สามารถเดินทางไปได้เกือบทุกจุด เพราะมีรถเมล์สายต่างๆร่วม 300 สายให้บริการครอบคลุมเส้นทางทั่วเกาะสิงคโปร์
ปลอดภัยมากๆ : รถเมล์ของสิงคโปร์มีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารสูง เช่น การจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, รถโดยสารมีอุปกรณ์ล็อคคันเร่ง กรณีหากประตูปิดไม่สนิท คนขับไม่สามารถเหยียบคันเร่งเพื่อเคลื่อนตัวรถได้, มีกล้องวงจรปิดเพื่อให้คนขับดูการขึ้นลงของผู้โดยสารและดูแลความปลอดภัยทั่วไป เป็นต้น
ไม่แออัด : สภาพผู้โดยสารรถเมล์ที่ยืนเบียดเสียดกันจนบางครั้งล้นมาที่ประตู คุณจะไม่ได้สัมผัสประสบการณ์อย่างนี้แน่ในสิงคโปร์ เพราะรถเมล์ที่นี่ ผู้โดยสารไม่หนาแน่น หากได้ขึ้นก็มักจะได้ที่นั่ง หากที่นั่งเต็ม ก็ได้ยืนแต่จะไม่เบียดเสียดกัน
ขึ้นลงถูกป้าย : ป้ายรถเมล์ทุกแห่งในสิงคโปร์จะระบุชื่อป้าย โดยจะระบุชื่อถนนและหมายเลขป้ายเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถขึ้นลงได้ถูกป้าย ระบบแบบนี้ทำให้นักเรียนไทยที่ไปเรียนสิงคโปร์ใหม่ๆและเพิ่งขึ้นรถเมล์ก็สามารถขึ้นลงป้ายได้ถูกต้องอย่างง่ายๆ
ราคาค่าโดยสารสมเหตุสมผล : แม้ว่าราคาค่าโดยสารรถปรับอากาศของสิงคโปร์หากเปรียบเทียบกับค่าโดยสารรถปรับอากาศในไทยแล้ว จะแพงกว่า แต่ราคาค่ารถเมล์ในสิงคโปร์ถือว่าคุ้มค่าหากเปรียบเทียบกับความสะดวกสบายและความปลอดภัยที่ได้รับ
|
ค่าโดยสารรถเมล์ในสิงคโปร์
ค่าโดยสารรถเมล์ คิดตามระยะทางเช่นกัน ค่าโดยสารต่ำสุด ระยะทางไม่เกิน 3.2 กิโลเมตร = 1.09 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 28 บาท)
ส่วนค่าโดยสารสูงสุด ระยะทางเกิน 40.2 กิโลเมตร ค่าโดยสารสูงสุด = 2.37 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 62 บาท)
ซึ่งค่าโดยสารดังกล่าว เป็นราคาค่าโดยสารผู้ใหญ่ (Adult Fares) ที่ชำระผ่านบัตร เช่น บัตร EZ-Link รวมถึงบัตร Debit, บัตร Credit, บัตร Travel Card ที่มีตราสัญลักษณ์ VISA หรือ Master Card
(หมายเหตุ ค่าโดยสารรถเมล์ สามารถชำระเป็นเงินสดได้ แต่ไม่แนะนำ เพราะราคาค่าโดยสารจะแพงกว่า เช่น ระยะทางสั้นสุด ค่าโดยสาร = 1.90 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 50 บาท) และระยะทางยาวสุด ค่าโดยสาร = 3 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 80 บาท) อีกทั้งผู้โดยสารต้องเตรียมเงินสดให้พอดีด้วย เพราะคนขับไม่มีเงินทอน)
|
|
 |
การชำระค่าโดยสาร
|
สำหรับนักเรียนไทยซึ่งอยู่สิงคโปร์ระยะยาวและใช้รถไฟฟ้า MRT และรถเมล์บ่อยครั้ง แนะนำให้ซื้อบัตรโดยสารชนิดเติมเงินที่เรียกว่าบัตร EZ-Link และหรือบัตร Travel Card เพื่อใช้บัตรนี้ชำระค่าโดยสาร
|
บัตร EZ-Link
บัตร EZ-Link หาซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ขายตั๋ว (Ticket Offices) ตามสถานีรถไฟฟ้าและท่ารถเมล์ (Bus Interchanges) หรือตามร้านค้าสะดวกซื้อของสิงคโปร์ เช่น 7-Eleven ซึ่งกระจายอยู่ทุกจุดทั่วประเทศ ราคาค่าบัตร EZ-Link เริ่มต้น 10 เหรียญสิงคโปร์ซึ่งเวลานำบัตรไปชำระค่าโดยสารนั้น จะใช้จริงได้แค่ 5 เหรียญสิงคโปร์เท่านั้น เพราะที่เหลืออีก 5 เหรียญสิงคโปร์ถือว่าเป็นค่าบัตรซึ่งไม่สามารถขอคืนได้ ดังนั้นนักเรียนจึงต้องนำบัตรไปเติมเงินด้วยเพื่อให้เงินในบัตรมีเพียงพอสำหรับชำระค่าโดยสาร
|
บัตร Travel Card
บัตร Travel Card เป็นบัตร Debit Card หรือบัตรเติมเงินรูปแบบหนึ่ง ออกบัตรโดย VISA และ Master Card นักเรียนสามารถนำบัตรนี้ไปชำระค่าโดยสาร MRT และรถเมล์ในสิงคโปร์ได้ เหมือนกับบัตร EZ-Link Card นักเรียนสามารถติดต่อสอบถามกับธนาคารในไทย ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกสิกรไทย, กรุงไทย, ไทยพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้ออกบัตรให้
|
บัตรนักเรียน
นักเรียนไทยที่เรียนที่สิงคโปร์ สามารถซื้อบัตร Concession Card ซึ่งเป็นบัตร EZ-Link สำหรับนักเรียนนักศึกษาโดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นส่วนลดเวลาขึ้นรถไฟฟ้า MRT รวมถึงรถเมล์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่นักเรียนไทยทุกคนที่ซื้อบัตรนี้ได้ แต่จะต้องเป็นนักเรียนไทยที่มีคุณสมบัติดังนี้
- เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีและเรียนกับมหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ, เป็นนักศึกษาที่เรียนวิชาชีพระดับ Diploma (อนุปริญญา) และเรียนกับสถาบันวิชาชีพที่เป็นของรัฐ เช่น Polytechnic,
- เป็นนักเรียนระดับประถมฯและมัธยมฯที่เรียนในโรงเรียนรัฐบาลเท่านั้นซึ่งนักเรียนจะได้ค่าโดยสารที่ถูกกว่า เช่น ค่าโดยสาร MRT รวมถึงรถเมล์ด้วย ระยะสั้นสุด = 0.48 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 12 บาท) ระยะยาวสุด = 7 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 18 บาท) นอกจากนี้ บัตรนักเรียนยังมีบัตรรายเดือนด้วยซึ่งเป็นราคาเหมาจ่ายทั้งเดือน ราคาก็จะถูกลงไปอีก
|
ค่า MRT และค่ารถเมล์ต่อเดือน
“เรียนสิงคโปร์ดอทคอม” ได้สุ่มสอบถามนักเรียนไทยตั้งแต่ระดับมัธยมฯจนถึงปริญญาโทที่เรียนอยู่ที่สิงคโปร์ว่า แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายสำหรับขึ้นรถไฟฟ้า MRT และรถเมล์ แต่ละเดือนเท่าไร คำตอบพบว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ระหว่าง 80-150 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน (ประมาณ 2,100-3,900 บาทต่อเดือน) ซึ่งแต่ละคนใช้ไม่เท่ากันเหตุเพราะ 2 ปัจจัยคือ ระยะทางระหว่างที่พักกับที่เรียนใกล้ไกลไม่เท่ากัน และรูปแบบการใช้ชีวิตแต่ละคน เช่น บางคนชอบอยู่บ้านในวันหยุด บางคนชอบออกข้างนอกในวันหยุดซึ่งทำให้ค่าเดินทางก็เพิ่มมากขึ้นด้วย
|
|
เรียบเรียงข้อมูลโดย “เรียนสิงคโปร์ดอทคอม" ศูนย์แนะแนวเรียนต่อสิงคโปร์โดยเฉพาะ
|
 |
|